Wednesday, March 6, 2013

10 เล่ม (+1)




        
                                                  

วันนี้จะแนะนำหนังสือรวม 10 เล่มที่ในความเห็นส่วนตัวของผมเอง คิดว่าดีที่สุดเท่าที่อ่านมาในการลงทุน .. ความจริงแล้วเลือกยากมากเพราะมันมีมากกว่า 10 เล่ม แต่ถ้าให้เลือกได้แค่ 10 เล่มแล้วครอบคลุมแง่มุมในการลงทุนได้มากพอ ก็น่าจะเป็น 10 เล่มนี้

จะบอกก่อนว่า ทั้ง 10 เล่มนี้ไม่มีหนังสือภาษาไทยเลยซักเล่ม บางเล่มมีหนังสือแปล บางเล่มก็ไม่มี
 


วันนี้นำเสนอแต่ชื่อของเล่มแรกเฉย ๆ ไม่อธิบายอะไร เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดรู้จักดีแล้ว


 One Up On Wall Street - Peter Lynch and John Rothchild

   
หนังสือที่แนะนำวันนี้ สำหรับนักลงทุนที่เน้นพื้นฐานแนว Buffett ควรหามาอ่านถ้าทำได้ สำหรับคนที่นับถือคุณปู่เป็น idol แล้ว การได้อ่านหนังสือที่คุณปู่เป็นคนเขียนเองกับมือน่าจะดีไม่น้อย และนี่คือหนังสือเพียงเล่มเดียวที่ Warren Buffett เขียนเอง

Lawrence Cunningham รวบรวม Letters to shareholders ที่ Warren Buffett เขียนถึงผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ทุกปี แล้วนำมาแบ่งเป็น section ตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน นักลงทุนจะได้เข้าใจหลักการของการลงทุนเน้นพื้นฐาน และมุมมองของการลงทุนทั้งหมดของเขา โดยสรุปผมว่าเป็นหนังสือการลงทุนเน้นพื้นฐานสไตล์ Buffett ที่ดีที่สุด




 หนังสือแนะนำวันนี้ น่าจะเป็นหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงแบบที่นักลงทุนชอบอ่าน ไม่มีการพูดเกี่ยวกับ P/E, ROE หรืออัตราส่วนการเงินแฟนซีทั้งหลาย แต่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับธุรกิจและการแข่งขันทางธุรกิจ ที่ผมคิดว่านักลงทุนที่เน้นพื้นฐานสมควรรู้อย่างยิ่ง

หลักการกลยุทธ์การแข่งขัน โด่งดังจากบทความและงานเขียนของปรมาจารย์ Michael E Porter อันเป็นต้นกำเนิดก็จริง แต่ Bruce Greenwald และ Judd Kahn ทำให้หลักการอันซับซ้อนนั้นง่ายขึ้นมาก พร้อมทั้งยกตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีศึกษา สำนวนการเขียนและการอธิบายก็เข้าใจง่าย

นักลงทุนที่เน้นพื้นฐาน ไม่สมควรหมกมุ่นอยู่กับหนังสือการลงทุนที่พูดแต่หลักการซ้ำไปซ้ำมา ที่มีเกลื่อนตลาด การเลือกอ่านหนังสือแนวนั้นดี ๆ ซักเล่มเดียวก็เพียงพอแล้ว หลังจากนั้นควรเปิดโลกไปอ่านหนังสือแนวอื่นเพื่อประโยชน์ในการมองธุรกิจ สำหรับหนังสือแนวกลยุทธ์ทางธุรกิจ และ competitive advantage แล้วถ้าให้เลือกเพียงเล่มเดียว ผมกล้ารับประกันว่าเล่มนี้ดีที่สุด และง่ายที่สุดแล้วสำหรับนักลงทุน






สำหรับนักลงทุนที่เน้นพื้นฐาน อาจจะถือว่า The Intelligent Investor (โปรดสะกดให้ถูก) ของ Graham เป็น Bible หรือคนที่ชอบ Buffett อาจจะยึดเอา Letters to Shareholders เป็นแหล่งอ้างอิง

แต่ถ้าจะศึกษา techinical analysis สำหรับหุ้นแล้ว ผมว่าหนังสือของ John J Murphy เล่มนี้เปรียบเป็น Bible ของเหล่าเด็กเทคนิคเลยทีเดียว

คนที่สนใจศึกษาการลงทุนด้านพื้นฐาน ต้องศึกษาและทำความเข้าใจในความหมายและที่มาของ P/E, ROE หรือ financial ratios ต่าง ๆ การศึกษาทางเทคนิคก็เช่นกัน นักลงทุนควรเข้าใจที่มาที่ไปแห่งหลักการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค เข้าใจที่มาของ indicators ต่าง ๆ ว่ามันมาจากอะไร, ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น, มันบอกอะไรเรา, เราแปลผลมันว่าอย่างไร, มีข้อดี และข้อจำกัดอะไรบ้าง

หนังสือที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้นด้วยเทคนิคในเมืองไทย มีมากมายมหาศาล มากเสียยิ่งกว่าหนังสือแนวพื้นฐานด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ผมกล้าบอกได้เลยว่า "ห่วย" เขียนกันมั่วซั่ว ไม่รู้ที่มาที่ไป ครูพักลักจำมายังไง ก็ว่าไปตามนั้นโดยไม่เข้าใจมัน และหลาย ๆ เล่ม (และหลาย ๆ คน) ก็ "โม้" เกิน ตีไข่ใส่สีเข้าไปอีกเพียบ

ถ้ามีโอกาสหรือวาสนาได้ศึกษา ผมแนะนำให้ลองอ่านเล่มนี้ดู ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแนวพื้นฐานที่เปิดใจกว้างพอ หรือเป็นเด็กเทคนิคอยู่แล้ว ถ้าได้อ่านและทำความเข้าใจมันแล้ว ท่านจะเข้าใจว่าเทคนิคไม่ใช่การมั่ว นั่งเทียน หรือนึก ๆ เอาเอง หาที่มาที่ไปไม่ได้ หรือเทคนิคที่ท่านเคยรู้หรือเชื่อมาตลอด มันถูกต้องหรือผิดกันแน่

ด้วยความที่มันเป็นระดับ Bible มันจึงละเอียดมาก และหนามาก ๆ (ใหญ่หนาและหนักระดับ textbook) แต่บอกได้เลยว่าครบถ้วน

ถ้าอ่านไม่ไหว เล่มที่ดีมากพอทดแทนกันได้คือ Trading for a Living ของ Alexander Elder ครับ แต่อธิบายไม่ละเอียดเท่าเล่มนี้


                                                       ในความเชื่อของผมเอง การลงทุนคือการลงทุน ถ้าเปรียบศาสนาสอนให้คนนับถือเป็นคนดี ในการลงทุน จุดมุ่งหมายของนักลงทุนทุกคน ก็คือทำกำไร จะใช้วิธีใดก็ได้ถ้าไม่ผิดกฏหมาย ไม่ได้หลอกลวงชาวบ้านเขา แล้วทำกำไรได้ก็ใช้ไปเถอะ จะเชื่อแนวทางใด พื้นฐาน, เทคนิค หรือดูดวง ดูดาว, ตามเมพตามเซียน, เฮโลเป็นกลุ่มก๊วน ก็แล้วแต่ท่าน ต่างคนต่างมีหลักการที่ตนเองเชื่อว่าใช้แล้วกำไร เปล่าประโยชน์ที่จะอวดอ้างว่าวิธีหรือความเชื่อของตน ดีที่สุด ถูกต้องอยู่แบบเดียว วิธีอื่นนั้นชั่วช้า แย่ สู้เราไม่ได้ นักลงทุนที่มีความคิดแบบนั้น ไม่ต่างอะไรกับบรรดาพวกคลั่งศาสนาที่ใจแคบ และก่อปัญหาวุ่นวายในโลกนี้ไม่รู้จบ

หัวใจสำคัญ ขอให้ท่านเข้าใจถึงหลักการและความเชื่อของตนเป็นอย่างดี ว่ามันคืออะไร จุดดี จุดด้อย เป็นอย่างไร และตนเองได้ดำเนินตามแนวทางนั้นหรือไม่ก็พอ

นอกจากแนวทางการลงทุนแบบเน้นพื้นฐาน และเน้นเทคนิคแล้ว ยังมีการลงทุนอีกแนวที่นำเสนอโดย William O'Neil ซึ่งเน้นผสมผสานจุดแข็งของทั้ง 2 แนวเข้าด้วยกัน และออกมาเป็นหลักการสำคัญ 7 ข้อในชื่อ CANSLIM ซึ่งดูเหมือนนักลงทุนบ้านเราเริ่มมีคนใช้วิธีนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับบรรดาแฟนพันธุ์แท้ CANSLIM หนังสือเล่มนี้คือ Bible ของเขา เนื้อหาอธิบายที่มาของหลักการ 7 ข้อ และการผสมผสานแนวคิดทางเทคนิค เข้ากับหลักการพื้นฐาน ซึ่งนำมาใช้ได้ผลดีไม่แพ้การลงทุนแนวอื่น ๆ

น่าเสียดายที่มีนักลงทุน และนักวิเคราะห์หลายคน เอา CANSLIM แบบผิด ๆ มาเผยแพร่ ปู้ยี่ปู้ยำไปก็ไม่น้อย

ดังนั้น ถ้าอยากจะศึกษาและหวังจะเป็น CANSLIMER กับเขาบ้าง ไม่มีเหตุผลที่จะไม่อ่านเล่มนี้ แล้วท่านจะรู้ว่าไอ้ที่พูด เขียน โม้ กันในบทความ, เวบบอร์ด หรือตามสื่อต่าง ๆ มันใช่ CANSLIM จริงหรือไม่                                             
                                                           
 

 นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่นักลงทุนควรมี ทั้งความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเน้นพื้นฐานของกิจการ หรือการลงทุนด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือจิตวิทยาการลงทุน

ไม่ว่านักลงทุนจะศึกษาหาความรู้ด้านพื้นฐาน หรือเทคนิคมามากแค่ไหนก็ตาม ถ้าเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจ และไม่มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง รวมถึงไม่เข้าใจจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาดโดยรวมแล้ว พวกเขาก็หนีไม่พ้นที่จะกลายเป็นเหยื่ออยู่วันยังค่ำ ในตลาดหุ้น สถานที่รวมคนที่มีจุดประสงค์ร่วมกันคือ ทำกำไร แต่ในความจริงนั้นคนส่วนใหญ่จะต้องขาดทุนอย่างแน่นอน แม้ในปัจจุบันนักลงทุน มีความรู้เกี่ยวกับตลาดทุน และการลงทุนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่สัดส่วนของคนที่ทำกำไรจากตลาดก็แทบไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุผลเดียวคือ มนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน

George Soros คืออดีตเจ้าพ่อ hedge fund โลกที่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่รู้จักในฐานะผู้โจมตีค่าเงินบาทจนประเทศไทยต้องประสบชะตากรรมจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 16 ปีก่อน แต่ผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่เคยศึกษา และเข้าใจแนวคิดเบื้องหลังการโจมตีค่าเงินของเขา แม้ว่า Soros ได้อธิบายหลักการของเขาผ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ปี 1988

แม้หลักสูตร ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน ตั้งอยู่บนสมมติฐานความเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อคติ, ความโลภ, และ ความกลัวของมนุษย์ บดบังความมีเหตุผลของมนุษย์อยู่เสมอ นี่เป็นที่มาของ Reflexivity อันโด่งดังในปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้อธิบายที่มาของ Reflexivity และ Reflexive Process ของตลาดทุน และยกตัวอย่างของ Boom-Bust Cycle ในตลาดหุ้น และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อธิบายด้วย Reflexivity คนที่ไม่เคยมีพื้นฐานเรื่องจิตวิทยาอาจจะเข้าใจได้ยากหน่อย แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจมัน เราจะเข้าใจพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดได้ดีขึ้น

การพูดถึง Reflexivity อาจจะดูเท่ห์ และผมเห็นนักลงทุนหลายคนเอาคำ ๆ นี้ไปโม้ก็ไม่น้อย แต่ถ้าไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ (หรือเล่มอื่น ๆ ของ Soros ที่ออกมาภายหลัง แต่เกี่ยวโยงกัน เช่น The New Paradigm for Financial Markets) ผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นเข้าใจนั้น คือความเข้าใจจริง


เวลานักลงทุนบอกว่าตัวเองเป็นนักลงทุนเน้นพื้นฐาน (หรือเน้นคุณค่า/VI) หรือเป็นเด็กเทคนิค เราได้ยินก็อาจจะไม่น่าตื่นเต้นอะไรนัก คงเป็นเพราะว่าทั้งสองค่ายเป็นหลักการสำคัญในการลงทุนมานาน และเติบโตมีสาวกอยู่มากมาย ใคร ๆ ก็ใช้กัน

แต่เวลามีใครซักคนพูด 'fund flow' นักลงทุนทั่วไปได้ยินแล้วก็อาจจะตื่นเต้น โอ้โห เทพ เจ๋ง ฯลฯ เพราะว่ามันดูเท่ห์, ดูว่ามันเป็นขั้นสูง หรือเป็นเพราะว่ามันน่าสนใจอย่างนั้นจริง ๆ ก็สุดแท้แต่

ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาความรู้ และติดตามข้อมูล fund flow นั้นไม่ง่าย อันที่จริงต้องพูดว่า มันยากกว่าการศึกษาทางเทคนิค และทางพื้นฐานหลายเท่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลที่จะติดตามมักมีหลากหลายมาก มีความซับซ้อน และข้อมูลหลาย ๆ ตัวมักต้องได้จากบริการทางพาณิชย์ เช่น Bloomberg หรือ Reuters ซึ่งนักลงทุนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงได้ยาก

อีกเหตุหนึ่ง ก็คือการทำความเข้าใจกับมันทำได้ยากกว่า คนที่จะเข้าใจต้องเข้าใจพื้นฐานเศรษฐศาสตร์, เข้าใจกลไกการไหลของสภาพคล่อง และต้องเข้าใจว่า indicator ตัวหนึ่ง ๆ มันมีความหมายว่าอะไร

นอกจากนี้หนังสือที่จะศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์นี้ก็หายาก เล่มนี้ก็ชี้ภาพของ fund flow ได้ระดับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เฉพาะเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ถ้านักลงทุนเข้าใจหลักการที่หนังสือเล่มนี้แล้ว ก็น่าจะสามารถประยุกต์ใช้กับการมองภาพใหญ่ได้

หนังสือนี้เขียนโดย Mohamed El-Erian อดีต CEO ของ Harvard Management Company ซึ่งทำหน้าที่บริหารเงินทุนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมูลค่า 3 หมื่น 5 พันล้านเหรียญ ก่อนจะย้ายมาทำงานในตำแหน่ง Co-CEO และ Co-CIO ของ PIMCO บริษัทผู้บริหารกองทุน Total Return Fund กองทุนตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ราว 8 แสนล้านเหรียญ)

El-Erian อธิบายการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินโลกจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไประหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา ความผิดปกติในเงินทุนของประเทศ 2 กลุ่มนี้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ความบกพร่องของการควบคุม การบริหารเงินของสถาบันการเงินต่าง ๆ, จุดอ่อนของตราสารหนี้ชนิดใหม่ที่เรียกว่า structured investment vehicles (SIV) ที่กลายเป็นอาวุธทำลายล้างวงการการเงินโลก เป็นต้น

When Markets Collide เล่มนี้เปิดโลกทรรศน์และความรู้ ความเข้าใจใหม่ ๆ ของระบบการเงินโลก และปัญหาของ Subprime ที่นำไปสู่ Hamburger crisis ได้ลึกซึ้งกว่าที่เคยรู้มา ไม่น่าแปลกใจเลยที่หนังสือเล่มนี้จะได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัล Goldman Sachs/Financial Time Book of the Year 2008

คนที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ ควรจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเงิน และเศรษฐกิจมหภาคนิดหน่อย เพราะมีศัพท์แสงเทคนิคอยู่บ้าง แต่เนื้อหาในเล่มไม่ยากเกินกว่านักลงทุนผู้สนใจและมีความสามารถทางภาษาอังกฤษพอสมควร

อ่านแล้วจะเข้าใจว่าทำไมเล่มนี้ถึงได้ book of the year





ในบรรดาหนังสือที่แนะนำทั้งหมด เล่มนี้น่าจะเป็นเล่มที่อ่านยาก และเข้าใจยากที่สุด ผมใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะอ่านเล่มนี้จบ

หนังสือของ NNT เล่มนี้เป็น New York Time Bestseller และ Amazon Bestseller อยู่นานหลายสัปดาห์ แต่เป็นหนังสือที่อ่านยาก มีศัพท์แสงประหลาดอยู่ไม่น้อย สำหรับคนที่ไม่กล้าอ่าน ผมแนะนำให้อ่าน Fooled by Randomness โดยผู้นิพนธ์ท่านเดียวกัน ซึ่งอ่านง่ายกว่า เข้าใจว่ามีคนแปลเล่มดังกล่าวเป็นภาษาไทยแล้ว ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าแปลได้ดีไหมเพราะไม่เคยอ่าน แต่ผมไม่คิดว่าจะมีใครแปล The Black Swan เป็นภาษาไทยได้อย่างง่ายดายเพราะคนแปลต้องมีความรู้เกี่ยวกับตลาดการเงิน, เรื่องคณิตศาสตร์ และปรัชญาพอสมควร

ก่อนการค้นพบทวีปออสเตรเลีย นักวิทยาศาสตร์ทุกคนเชื่อว่าหงส์ทุกตัวมีสีขาว (เป็นที่มาของคำกล่าวว่า All swans are white ซึ่งมีความหมายเปรียบว่านี่คือ ความจริงของธรรมชาติ) จนกระทั่งมีคนเจอ black swan ในปี 1697 บริเวณที่เป็นเมือง Perth ในปัจจุบัน. The Black Swan นำเสนอเหตุการณ์ที่มีผลกระทบสำคัญและคุณสมบัติของเหตุการณ์ที่เข้าข่าย Black Swan ได้น่าสนใจมาก

ลักษณะของ Black Swan ที่สำคัญมี 3 อย่างคือ

1. Rarity/Highly unexpected เหตุการณ์นี้ต้องหายาก และมักคาดไม่ถึง
2. Extreme impact เหตุการณ์นี้มีผลกระทบชัดเจนและรุนแรง
3. Retrospective predictability ถ้ามองย้อนหลังกลับไป เราอาจจะเข้าใจหรืออธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

และ black swan event นี้เองที่ทำให้เราเข้าใจว่าโมเดลทางสถิติ และการกระจายตัวแบบสุ่ม (random distribution หรือ bell curve) ใช้ไม่ได้กับเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรทราบและระมัดระวังไว้เสมอ




มีคนเคยบอกตั้งแต่สมัยผมเริ่มเข้ามาลงทุนใหม่ ๆ ว่าการที่นักลงทุนจะประสบความสำเร็จ สามารถทำกำไรได้จากตลาดอย่างยั่งยืน ความรู้ที่เกี่ยวกับการลงทุนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานกิจการ, งบการเงิน, เศรษฐศาสตร์, การเงิน, เทคนิค เป็นของสำคัญ ... แต่จริงอยู่ที่ว่าความรู้เหล่านี้เสมือนเครื่องมือจำเป็น เป็นอาวุธที่เราจะใช้ในการทำศึกในตลาด ปราศจากมันโอกาสที่เราจะชนะก็คงยาก ...

แต่ถ้าความรู้พื้นฐานทั้งหลาย สามารถทำให้คนอ่าน ได้รู้ เข้าใจ แล้วก็ทำกำไรในตลาดได้ง่ายแบบนั้น ในโลกนี้คงแทบไม่มีใครขาดทุ

นักลงทุนหน้าใหม่หลายคนอาจจะเห็นแย้ง แต่เมื่อประสบการณ์ของท่านสั่งสมมากขึ้น โดยอยู่รอดได้ไม่หายตายจากไปเสียก่อน ท่านจะเข้าใจได้เองว่า ความรู้เหล่านี้มีส่วนไม่ถึงครึ่ง แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าความรู้เหล่านี้ คือตัวเราเอง เพราะเราต่างหากที่เป็นผู้ประมวลข้อมูลที่ได้มาจากที่ต่าง ๆ จนได้การตัดสินใจของเราเองในการซื้อ, ถือ หรือขายหุ้น เพื่อทำกำไรและอยู่รอดในตลา

ความเข้าใจในจิตวิทยาของนักลงทุนใดก็ไม่เท่าความเข้าใจในตัวเอง ผมได้หนังสือเล่มนี้จากน้องที่เคารพท่านหนึ่งเมื่อปีเศษ เป็นหนังสือที่เขียนโดย Michael Martin และคำนิยมโดย Ed Seykota ซึ่งเป็นหนึ่งในสุดยอดระดับโลก แต่นักลงทุนไทยน้อยคนจะรู้จัก เป็นหนังสือที่เปิดโอกาสให้เราเข้าใจจิตวิทยาพื้นฐานของนักลงทุน จิตวิทยาของตนเอง และอธิบายว่าเหตุใดสิ่งนี้จึงสำคัญมากในการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ

เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เล่มบาง ๆ เพียงร้อยกว่าหน้า แต่เนื้อหาสุดยอดมาก แค่บทต่อจาก Introduction ที่ชื่อ "Surrender" บทเดียวก็คุ้มค่ายิ่งกว่าอ่านหนังสือการลงทุนขยะ ๆ ที่ขายกันในร้านหนังสือไทยหลายเท่านัก




ประโยคแรกของคำนำหนังสือชื่อ Trading in the Zone เขียนโดย Mark Douglas กล่าวไว้น่าสนใจ และเหมาะกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบันอย่างยิ่ง

"The great bull market in stocks has led to an equally great bull market in the number of books published on the subject of how to make money trading the markets"

แต่ไม่ทราบว่ามีท่านใดเคยสังเกตว่า หนังสือการลงทุนที่เยี่ยมยอด คุ้มค่ากับเงินและเวลาที่เสียไปในการอ่าน และเหมาะกับการเก็บไว้ในชั้นหนังสือที่บ้าน แถมยังสามารถเอามาอ่านซ้ำได้หลายรอบ ... มีน้อยมาก

ที่เป็นเช่นนี้ ผมเข้าใจว่ามีเหตุผล 2-3 ข้อ

1. หนังสือที่สุดยอด ต้องเขียนโดยนักลงทุนที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่ามีฝีมือจริง และมีประสบการณ์นานพอสมควรที่จะยืนยันได้ว่าคน ๆ นั้นมีฝีมือดังว่า เพราะหนังสือที่ดี ไม่ใช่การหยิบขี้ปากคนอื่นเขามาพูด หรือคัด ๆ ลอก ๆ คนอื่นเอามาใส่กลายเป็นของตน แต่เนื้อหาต้องกลั่นมาจากแนวคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน

2. นักลงทุนที่เก่ง ๆ เหล่านั้น ต้องมีความสามารถในการเขียนและสื่อสารพอสมควร จึงจะสามารถเรียบเรียงแนวคิดและประสบการณ์ของเขาออกมาเป็นตัวหนังสือให้คนอ่านเข้าใจได้ดี หนังสือดี ๆ เล่มหนึ่งกว่าจะออกมาได้ใช้เวลานานเป็นปี

3. และเหนืออื่นใด นักลงทุนเหล่านั้น มีจุดประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้และแนวคิดของเขาให้เป็นความรู้กับคนอื่นเป็นสำคัญ เขาทำเพราะเขามี passion เขาอยากทำ เขาไม่มีความต้องการที่จะสร้างความร่ำรวยจากหนังสือ, ไม่ต้องการมีชื่อเสียง หรือไม่ต้องการหาเงินการจัดสัมนา ออกสื่อ หรือจัดคอร์สอบรมอะไร เพราะนักลงทุนที่เก่งจริง เขาสร้างความมั่งคั่งจากตลาด ไม่ใช่จากสิ่งเหล่านี้

"Successful traders are primarily going to be focused on trading rather than writing about trading or marketing trading services" - Nadeem Walayat

ดังนั้นการที่เราเห็นหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนมากมายในท้องตลาด ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนที่มีผลงานเหล่านั้นจะต้องเป็นนักลงทุนที่เก่งกาจเสมอ ในขณะเดียวกัน นักลงทุนที่มีฝีมือระดับสุดยอดส่วนใหญ่ ก็เลือกที่จะไม่เสียแรง เสียเวลาอย่างมากมาย ไปกับการเขียนหนังสือออกมาให้เราได้อ่าน เพราะเวลาของเขามีค่ามาก เขาเอาเวลาไปหาเงินจากตลาดได้มากกว่าหลายเท่า ทำให้เรามีโอกาสได้ทราบ หรือเรียนรู้แนวคิดจากนักลงทุนสุดยอดระดับพระกาฬตัวจริงได้น้อยมาก

นับว่าเป็นโชคดี ที่ Jack Schwager ได้ริเริ่มแนวคิดการไปติดต่อสัมภาษณ์นักลงทุนที่เยี่ยมยอด และตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือให้เราได้อ่าน ถ้าปราศจากหนังสือเล่มนี้ เราอาจไม่รู้จักและไม่มีโอกาสได้ศึกษาแนวคิดและประสบการณ์จริงของนักลงทุนระดับโลกอย่าง Ed Seykota, Larry Hite, Paul Tudor Jones, Jim Rogers, William O'Neil หรือ Micheal Marcus เลย

ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเล่มแรกของ series นี้คือ Market Wizards - Interviews with Top Traders มีอายุครบ 25 ปีในปีนี้ ยังมีเนื้อหา/แนวคิดจากนักลงทุนมากมาย ที่ยังคงทันสมัยไม่เสื่อมคลาย และได้อะไรใหม่ ๆ เสมอจากการอ่านซ้ำ

(ป.ล. หนังสือที่เขียนโดย William O'Neil และ Jim Rogers เอง ตีพิมพ์หลังจากเล่มนี้หลายปี)
 
 
 

 
เห็นท่านมารขาว Manop Pithukpakom แนะนำหนังสือที่นักลงทุนพื้นฐานควรอ่านไปแล้ว วันนี้ขอทำตัวเป็นประโยชน์บ้าง หลังจากไร้สาระไปหลายวัน อิ อิ

เนื่องจากวิธีสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นนั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะใช้พื้นฐาน เทคนิค หรือ จิตวิทยาก็ตาม แล้วแต่จะหยิบมาใช้กันตามความถนัดและถูกจริตของแต่ละคน...

เนื่องจากพื้นฐานของผมเป็นคนปอดแหกมาตั้งแต่เด็กๆ จึงไม่ค่อยชอบเสี่ยง ขับรถก็ช้า ทำอะไรก็งุ่มง่าม เวลามาลงทุนจึงปอดแหกไปด้วย จึงเลือกที่จะต้องรู้ให้แน่ใจก่อนว่าโอกาสพลาดน้อยจึงลงมือ ทั้งนี้เพราะไม่อยากต้องมานั่งเสียเวลาแก้ไขทีหลัง...

ตามแนวของผมคือ ลงทุนในบริษัทที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และสร้างมูลค่า...

หนังสือ 2 เล่มนี้ ผมแนะนำไปแล้ว แต่วันนี้จะมาบอกว่า ของมันคู่กัน ...

เล่มสีแดงนี้ขยายและทำให้แนวคิดด้านการแข่งขันของ Porter ง่ายขึ้น มีกรณีศึกษาที่ขยายความเอาไว้ชัดเจน...ใครอ่านPorter แล้วมีประเด็นสงสัย อ่านจากเล่มนี้จะกระจ่างขึ้น และออกนอกกรอบความคิดเดิมๆที่หลายๆคนนำมาใช้และติดหนึบอยู่กับมัน...

เล่มปกสีขาวนี้ ชื่อเรื่องอาจไม่สอดคล้องกับเล่มแรก แต่ความเป็นจริงมีเนื้อหากล่าวถึงสองประเด็นคือ ผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์ที่มีต่อการจ้างงาน บริษัท กับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่จะต้องพบกับกระแสโลกาภิวัฒน์ เอาเข้าจริงๆแล้วเล่มนี้ขยายความเล่มแรกอย่างชัดเจนทีเดียว แถมด้วยบทที่พูดถึง ปัญหาที่แท้จริงของระบบการเงินของโลกจากมุมมองประวัติศาสตร์(หนังสือไม่ได้บอกว่าแก้ได้อย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศสองขั่ว)

ต้องบอกว่า ใครไม่ได้อ่าน สองเล่มนี้ จะเข้าใจธุรกิจและผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจได้ไม่ง่ายนัก...


Credit : 10 เล่มแรก พี่หมอ mprandy 2 เล่มสุดท้ายอาจารย์ Montri Nipitvittaya



No comments:

Post a Comment